วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รัฐสภาไทย


http://www.spo.moph.go.th/ict/job/crut.gif



รัฐสภาไทย ในประเทศไทย รัฐสภา เป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์พระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมาย สำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ รัฐสภาจะประกอบด้วยสภาเดียวหรือสองสภา ย่อมแล้วแต่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประชุมร่วมกันหรือแยกกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

รัฐสภาของประเทศไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์ นี้แก่ผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมา

ต่อมาเมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วน ของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิก และมีที่ให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง 3 ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน

ในครั้งที่ 4 แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ด้วย

สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

  • หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
  • หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
  • หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา

สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีโครงการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รัฐสภา


ห้องประชุมรัฐสภา เริ่มใช้ประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 ประชุม 3 อย่าง คือ

1. การประชุมวุฒิสภา
2. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
3. การประชุมร่วมกันของรัฐสภา (วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร)
ภาพ:รัฐสภา.GIF

ที่นั่งสำคัญ ๆ

ประธาน : ที่นั่งตรงกลาง
รองประธานคนที่ 1 : ที่นั่งขวามือของประธาน
รองประธานคนที่ 2 : ที่นั่งซ้ายมือของประธาน
นายกรัฐมนตรี : ที่นั่งแรกของแถวบนขวามือของประธาน
คณะรัฐมนตรี : ที่นั่ง 2 แถวขวามือของประธานถัดจากนายกรัฐมนตรี
คณะกรรมาธิการ : ที่นั่ง 2 แถวซ้ายมือของประธาน
เลขาธิการและรองเลขาธิการ : ที่นั่งถัดจากประธานลงมาในชั้นที่ 2

ที่นั่งของสมาชิก

การจัดที่นั่งในการประชุม

- การประชุมวุฒิสภา สมาชิกจะนั่งเรียงตามลักษณะชื่อที่จัดไว้แล้ว

- การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาลนั่งซีกขวามือของประธาน พรรคฝ่ายค้านที่นั่งซีกซ้ายมือของ ประธาน

- การประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภานั่งซีกขวามือของประธาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่งซีกซ้าย มือของประธาน

ที่นั่งของประชาชนที่นั่งการประชุม

- ในวันที่มีการประชุมสภา ประชาชนทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถขออนุญาตและเข้าฟังการประชุมสภา โดยจัดให้นั่งที่ชั้นลอยด้านหลัง มีจำนวนทั้งหมด 145 ที่นั่ง

ที่นั่งของสื่อมวลชน

- บนชั้นลอยด้านซ้ายมือของประชาชน อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวฉบับ / แห่งละ 2 คน (ข่าวภาพ 1 คน ผู้สื่อข่าว 1 คน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น